**มีการเปิดเผยเนื้อหาของไลท์โนเวลเล่มที่ 1 / มังงะเล่มที่ 1-3 / อนิเมะตอนที่ 1-3
—สายลับมักโกหกอยู่เสมอ
จะกล่าวว่าคำลวงนั้นคือเนื้อแท้ของผลงานเรื่องนี้ก็ย่อมได้ “ห้องเรียนจารชน” หรือที่รู้จักกันในชื่อ Spy kyoushitsu, Spy room ไลท์โนเวลเจ้าของรางวัลชนะเลิศจากการประกวด Fantasia Prize Award ครั้งที่ 32 หากมองผ่านลายเส้นอันแสนน่ารักและชวนสะดุดตาของอาจารย์โทมาริ ประกอบกับบรรยากาศชิลๆ ระหว่างกลุ่มเด็กสาวในเรื่อง คงไม่มีผู้อ่านคนใดทันได้คาดคิดว่าสิ่งที่กำลังรออยู่ ณ หน้ากระดาษถัดไปก็คือ “การหักมุมแล้ว หักมุมอีก” อย่างแน่นอน
รูปประกอบไลทโนเวลต้นฉบับโดยอาจารย์โทมาริ
ทว่ายิ่งถูกกล่าวถึงในฐานะของ “ไลท์โนเวลที่ยอดเยี่ยม” มากเพียงใด ความคาดหวังที่มีต่อผลงานดัดแปลง อย่างเวอร์ชันมังงะหรืออนิเมะของผู้ชมก็ยิ่งสูง และหากเพื่อนๆ เป็นคนที่เคยอ่านไลท์โนเวลเล่มแรกของ “ห้องเรียนจารชน” มาก่อนก็คงทราบกันดีว่าการจะดัดแปลงเนื้อหาที่เกิดขึ้นในเล่มแรกนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เอาซะเลย ความยากระดับ “ภารกิจเหลือวิสัย” นี้เองที่ทำให้น้องนกอยากมาไขกระจ่างถึงความแตกต่างระหว่างไลท์โนเวลต้นฉบับ มังงะและอนิเมะให้เพื่อนๆ ได้เลือกเวอร์ชันที่ถูกใจใช่เลยของตัวเอง
Light Novel ห้องเรียนจารชน Spy room
ไลท์โนเวล “ห้องเรียนจารชน” Spy room มีจุดเด่นตรงที่ “การหักมุม” ตามที่น้องนกได้กล่าวไปข้างต้น ทว่านั่นก็ไม่ใช่เสน่ห์เพียงอย่างเดียวของไลท์โนเวลเรื่องนี้ เพราะด้วยภาษาและบทบรรยายที่เน้นเข้าใจง่าย ทำให้สามารถอ่านได้อย่างลื่นไหลไม่ติดขัด รวมถึงมุกตลกที่สอดแทรกเข้ามาเป็นช่วงๆ แต่ก็ยังคงธีมของเรื่องได้แบบภาพยนตร์มาร์เวล อีกทั้งยังมีตัวละครเอกเป็นกลุ่มของเด็กสาวผู้ถูกตราหน้าว่านักเรียนปลายแถว ทำให้ไลท์โนเวล “ห้องเรียนจารชน” Spy room มีรสชาติที่แปลกใหม่ไปจากนิยายธีมสายลับทั่วไปอยู่บ้าง เพราะนอกจากตัวละครเอกจะเป็นสายลับที่ไม่ได้เก่งขั้นเทพแบบเจมส์ บอนด์แล้ว ยังเคลื่อนไหวเป็นกลุ่มใหญ่ที่กลับจะยิ่งสะดุดตาซะอีก ทำเอาผู้อ่านต้องมาคอยลุ้นทุกเล่มว่าอาจารย์ทาเคมาจิ ผู้เขียน จะงัดกลเม็ดอะไรให้เหล่าเด็กสาวเอาชนะศัตรูที่เก่งกาจกว่าตนราวฟ้ากับเหวในโลกแห่งการจารกรรมได้ ที่น่าสนใจคือบางวิธีก็เป็นวิธีพื้นๆ อย่างการโกหกธรรมดาๆ ง่ายๆ ตรงๆ อย่างนั้นเลย แต่เพราะคำโกหกธรรมดาๆ นี่แหละที่พลิกสถานการณ์เข้าตาจนในเรื่องนี้มานักต่อนักครั้งเลยเชียว!
รูปประกอบไลทโนเวลต้นฉบับโดยอาจารย์โทมาริ
Manga ห้องเรียนจารชน Spy room
แม้ “การหักมุม” ดังกล่าวจะออกมาเวิร์กในเวอร์ชันไลท์โนเวล แต่ก็มีข้อจำกัดบางอย่างที่ไม่สามารถถ่ายทอดออกมาในรูปแบบอื่นได้ ดังนั้นนี่จึงเป็นโจทย์ยากของมังงะ “ห้องเรียนจารชน” Spy room ว่าจะยังคงเสน่ห์ดั้งเดิมได้หรือไม่ โดยเนื้อหาในไลท์โนเวลเล่มแรกนั้นจะถูกแบ่งออกเป็นมังงะ 3 เล่มจบ และเล่าเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในเนื้อเรื่องด้วยวิธีการที่แตกต่างออกไปจากไลท์โนเวลอย่างสิ้นเชิง อาทิ การหยิบภูมิหลังของสาวๆ แต่ละคนมาแนะนำเพื่อให้คนอ่านได้รู้จักเอกลักษณ์ของตัวละครกันตั้งแต่ต้นเรื่อง การเพิ่มแอ็กชันให้ดูดุดันและสมเป็นธีมสายลับมากขึ้น ซึ่งการหยิบยกความสัมพันธ์ระหว่างตัวละครมาเล่าเรื่องตั้งแต่เนิ่นๆ นี้เองที่ทำให้ฉบับมังงะสามารถสร้างบรรยากาศร่วมกับผู้อ่านได้ดี เรียกได้ว่าได้อย่างเสียอย่างคนละอย่างกับไลท์โนเวล แต่ถึงแม้ว่าวิธีการเล่าเรื่องจะไม่เหมือนกัน แต่ใจความสำคัญของ “ภารกิจเหลือวิสัย” ก็ยังเหมือนเดิม ดังนั้นอ่านแบบสบายใจ หายห่วงได้เลยจ้า
ฉบับมังงะโดยอาจารย์คานาเมะ เซอุ
Anime ห้องเรียนจารชน Spy room
มาต่อกันที่ “ห้องเรียนจารชน” Spy room ในรูปแบบที่มีทั้งภาพการเคลื่อนไหวและเสียงพากย์ประกอบกันบ้าง โดยเฉพาะจุดเด่นของอนิเมะที่ไม่พูดถึงไม่ได้เลยอย่างทีมนักพากย์ระดับท็อปที่กวาดนักพากย์ชื่อดังในวงการมาเกือบทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็น Sora Amamiya หรือเท็นจัง นักพากย์สาวเสียงใสเจ้าของบทบาทอควา ตัวละครสุดกาวจาก kono subarashii sekai ni shukufuku wo! และอื่นๆ อีกมากมาย (อ่านรายละเอียดของทีมนักพากย์ “ห้องเรียนจารชน” Spy room ได้ที่ bit.ly/spy-room-seiyuu) ในส่วนของการดำเนินเรื่อง อนิเมะเป็นเหมือนลูกครึ่งระหว่างฉบับไลท์โนเวลและมังงะ เนื้อหาในสามตอนแรกของอนิเมะจะเท่ากับไลท์โนเวลเล่มแรก แต่หลังจากตอนที่ 4 เป็นต้นไปจะเริ่มเล่าย้อนถึงกิจวัตรในคาเกโรพาเลซก่อนไปทำภารกิจเหลือวิสัยให้ผู้ชมได้รู้จักสาวๆ ในทีมโทโมชิบิกันมากขึ้น นอกจากนี้เพลง ED ยังเปลี่ยนไปตามแต่ละตอนที่ตัวละครนั้นๆ เป็นตัวเอก อย่างตอนนี้ก็มีออกมาทั้งหมด 4 เพลง คือเพลง Secret Code โดย Konomi Suzuki ที่เปรียบเสมือนเพลงปิดหลักของอนิเมะ และเพลงของตัวละครเอลน่า ซีเบีย และซาร่า ถ้าใครชอบอนิเมะแนวดูเพลินๆ สอดแทรกด้วยฉากคอเมดีพอกับแกล้ม น้องนกก็แนะนำเวอร์ชันอนิเมะ เพราะแค่ฟังเสียงนักพากย์ก็คุ้มแล้วจริงๆ
ภาพตัวอย่างอนิเมะ "ห้องเรียนจารชน" Spy room
เป็นอย่างไรกันบ้างกับความแตกต่างของ “ห้องเรียนจารชน” Spy room ทั้ง 3 เวอร์ชันที่น้องนกนำเสนอในบทความนี้ แต่ถึงแต่ละเวอร์ชันจะมีแนวทางการดำเนินเรื่องที่แตกต่างกันออกไป แต่ในฐานะแฟนตัวยงแล้วก็คงอยากเก็บทุกเวอร์ชันให้ครบเป็นธรรมดา ซึ่งหากใครอยากลองชิมลางผลงานสายลับแนวหักมุม x คอเมดีเรื่องนี้ ทางสำนักพิมพ์ Phoenix ก็มีทั้งไลท์โนเวลและมังงะวางจำหน่ายอยู่นะ
คลิกดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ ที่นี่ เลย!