**Trigger warning: การทำร้ายร่างกาย, การข่มขืน, การฆ่าตัวตาย
ชิอิโนะ โทโมโยะ รู้ข่าวว่าเพื่อนสนิทอย่างมาริโกะกระโดดตึกฆ่าตัวตาย ชิอิโนะเป็นเพื่อนกับมาริโกะมาแต่เด็กจึงรู้ว่ามาริโกะมีปัญหาในชีวิตมากมายแค่ไหน เธอเจ็บใจที่ไม่อาจช่วยเพื่อนไว้ได้ จึงตัดสินใจออกเดินทางพร้อมกับอัฐิของมาริโกะเพื่อทำตามความปรารถนาของเพื่อนเป็นครั้งสุดท้าย
My broken Mariko แด่มาริโกะของฉัน เป็นมังงะเล่มเดียวจบเจ้าของรางวัล Bros. Comic Award ปี 2020 (รางวัลเดียวกับที่มังงะเรื่อง “ระเบียงพักใจ สายใยผูกพัน Metamorphose no Engawa” เคยได้รับในปี 2018) เขียนโดยอาจารย์ Hirako Waka ว่าด้วยเรื่องราวของหญิงสาวที่สูญเสียเพื่อนรักไปอย่างกะทันหัน ทว่าภายใต้ความโศกเศร้านั้นก็ยังแฝงเอาไว้ด้วยความเจ็บใจที่ไม่อาจช่วยเพื่อนรักเอาไว้ได้ จึงเป็นเหตุให้เธอออกเดินทางไปกับอัฐิของเพื่อนเพื่อทำให้ความปรารถนาที่เคยสัญญากันยามมีลมหายใจเป็นจริง แต่สุดท้ายแล้วการเดินทางในครั้งนี้จะเป็นการทำเพื่อคนตาย หรือภาพสะท้อนความอาลัยที่ยังหลงเหลืออยู่ของคนเป็นกันแน่ เตรียมมาหาคำตอบในแบบฉบับของคุณเองในมังงะเรื่อง “My broken Mariko แด่มาริโกะของฉัน” เรื่องนี้กันได้เลย
แนะนำตัวละคร My broken Mariko แด่มาริโกะของฉัน
ชิอิโนะ โทโมโยะ (Tomoyo Shiina)
เพื่อนสนิทของมาริโกะ รู้จักกับมาริโกะมาตั้งแต่สมัยเด็กๆ ปัจจุบันทำงานเป็นพนักงานออฟฟิศ หลังทราบข่าวการตายของมาริโกะจึงขโมยอัฐิของเธอมาจากครอบครัว และออกเดินทางไปทำตามสัญญาที่เคยให้กันไว้
อิคากาวะ มาริโกะ (Mariko Ikagawa)
เพื่อนสนิทของชิอิโนะ เรียกชิอิโนะว่า “ชี่จัง” ฆ่าตัวตายด้วยสาเหตุบางอย่าง
ความสัมพันธ์อันเหนียวแน่นซึ่งก่อกำเนิดมาจากความเจ็บปวด
ความสัมพันธ์ระหว่างชิอิโนะ โทโมโยะกับอิคากาวะ มาริโกะนั้นเรียกได้ว่าอยู่ในระดับที่สามารถเรียกว่า “เพื่อนรัก” ได้เต็มปาก พวกเธอร่วมทุกข์และร่วมโศกไปด้วยกัน ในขณะที่มาริโกะมีบาดแผลเต็มร่างกาย ชิอิโนะเองก็มีบาดแผลฝังลึกในจิตใจยามเมื่อรู้สึกว่าตนไม่อาจช่วยเหลือมาริโกะได้เช่นกัน
ความโศกเศร้าจากการสูญเสียเพื่อนรักที่ไม่อาจบรรเทาลงในทันทีได้
ยิ่งผูกพันกันมากเท่าใดก็ยิ่งยากจะลืมเลือน ชิอิโนะ โทโมโยะที่ทำใจกับความตายของเพื่อนรักไม่ได้จึงเลือกจะออกเดินทางไปทำตามสัญญาเมื่อครั้งมาริโกะยังมีชีวิต แน่นอนว่าหากความตายของมาริโกะเป็นเพียงเพราะการถึงแก่กรรมตามอายุขัย ชิอิโนะคงไม่มีเหตุผลใดให้รู้สึกเจ็บใจกับความตายของมาริโกะ ทว่าเพราะชิอิโนะรับรู้ถึง “เหตุการณ์อันเลวร้าย” ที่มาริโกะเคยได้รับมาทั้งจากครอบครัวและคนรอบข้าง มาถึงตรงนี้อย่าว่าแต่เพียงชิอิโนะ จะใครก็คงคิดว่านี่เป็นเหตุการณ์ที่อยุติธรรมที่สุด ทำไมผู้ถูกกระทำอย่างมาริโกะจึงต้องเป็นฝ่ายยอมถอยไปเสมอกัน อารมณ์เดือดดาลปะทุ แต่ในเมื่อเธอได้จากไปแล้ว…จะหลงเหลือสิ่งใดให้คนเป็นทำเพื่อคนตายได้อีก
“แด่เธอผู้จากไป”
อลิซาเบธ คุเบลอร์-รอสส์ จิตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการรับมือกับการสูญเสียได้แบ่งระยะของความโศกเศร้าจากการสูญเสียออกเป็นทั้งหมด 5 ระยะด้วยกัน
ระยะปฏิเสธความจริง (Danial)
ระยะโกรธ (Anger)
ระยะต่อรองกับความสูญเสีย (Bargaining)
ระยะซึมเศร้า (Depression)
และระยะยอมรับความจริง (Acceptance)
(อ่านบทความฉบับเต็มได้ที่เว็บไซต์ของ PrimoCare Medical "5 Stages of Grief" วิธีรับมือกับการสูญเสีย
ก้าวผ่านความเศร้าด้วยการเข้าใจตัวเอง)
กล่าวคือเราจะยอมรับความจริงได้ก็ต่อเมื่อผ่านระยะต่างๆ ก่อนหน้านี้ทั้ง 4 ระยะมาแล้ว
เปรียบเสมือนการเดินทางของชิอิโนะในครั้งนี้
ปลายทางของสถานที่แห่งคำสัญญา…ณ ที่แห่งนั้นจะมีคำตอบใดรอคอยเธอผู้ยังอยู่กัน
มีเพียงผู้ที่อ่าน “My broken Mariko แด่มาริโกะของฉัน” จบแล้วเท่านั้นที่รู้
เพราะวิธีอาลัยเธอผู้จากไปได้ดีที่สุดนั้นคือ...