‘วิวาห์ของลาล่า’ สนุกไหม? ทำไมถึงน่าอ่าน
สาววายหนุ่มวายหลายๆ คนอาจจะไม่ค่อยคุ้นกับนามปากกา ‘ทาเมโค’ เท่าไหร่นัก แต่สำหรับคนที่เคยอ่านงานของอาจารย์มาก่อนจะรู้ว่านี่คือหนึ่งในตัวเด็ดของแนว Ero-mantic ที่เล่าเรื่องได้เก่ง หนำซ้ำลายเส้นก็จัดว่าเด็ดดวง คุณภาพของงานวาดทั้งตัวละคร ฉาก บรรดาสิงสาราสัตว์ ไปจนถึงฉากต่างๆ ก็ล้วนงานละเอียดไปทุกสิ่งอัน เรียกได้ว่าเนียนตามากๆ แค่ไล่สายตาเก็บรายละเอียดภาพในแต่ละช่องก็เพลินแล้ว ด้านการเล่าเรื่องจะมีสไตล์คล้ายๆ กับ อ.ฮาราดะ (คัลเลอร์เรซิพี) อยู่บ้างในแง่ของการเล่นประเด็นเกี่ยวกับความรู้สึกนึกคิด สภาพจิตใจของตัวละคร แต่ยังไม่ดาร์กเท่า ไม่จิตเท่า ยังมีความใสๆ อ่านแล้วดีต่อใจอยู่ ด้วยประการฉะนี้ พี่นกจึงมีความภูมิใจที่จะนำเสนอเรื่อง ‘วิวาห์ของลาล่า’ ให้กับคอ BL ด้วยกันอย่างยิ่ง
แม้จะเกริ่นนำไปว่า ‘วิวาห์ของลาล่า’ นี้มีความเป็น Ero-mantic ซึ่งส่วนมากจะเน้นไปที่ความวาบหวามของฉากอย่างว่า แล้วก็ลงเอยกันด้วยความรักในเวลาไม่นาน แต่เนื้อเรื่อง ‘วิวาห์ของลาล่า’ นั้นแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ของตัวละครที่ลึกลงไปกว่านั้น หากจะเจาะจงลงไปให้ชัดเจนก็คือ ‘การเติบโตทางความรัก’ ของตัวละครหลักทั้งคู่
เรื่องย่อ
รัมดาน เข้าพิธีวิวาห์เพื่อความสุขของน้องสาว และเพื่อทางรอดของหมู่บ้าน
โวลซีย์ เข้าพิธีวิวาห์เพื่อไขว่คว้าความรัก และเพื่อให้ได้คนที่ทั้งรักทั้งหลงใหลมาครอง
ในความรู้สึกที่สวนทางกันขนาดนี้ ฝ่ายที่รักมากก็ย่อมเจ็บมาก
ทว่ารัมดานที่เริ่มแรกไม่ได้รู้สึกอะไรกับโวลซีย์เลยสักนิด จิตใจของเขาก็เริ่มเปลี่ยนแปลงไปทีละน้อย อาจจะเพราะค่อยๆ ซึมซับความรู้สึกของอีกฝ่าย หรือเพราะร่างกายถูกทำให้คล้อยตามไปกับความปรารถนา แต่ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนั้นก็ค่อยๆ เกิดขึ้นจนกระทั่งเห็นได้อย่างชัดเจน
ในขณะที่โวลซีย์ จากตอนแรกที่ความรู้สึกของเขามีแต่ความปรารถนา ความใคร่ ความอยากครอบครอง ความต้องการอันรุนแรง แต่เมื่อได้มาใช้ชีวิตอยู่กับรัมดาน เขาก็เริ่มเรียนรู้ที่จะปรับตัวเข้าหาอีกฝ่าย เมื่อตระหนักว่าความต้องการของเขาฝ่ายเดียวนั้นไม่อาจทำให้อีกฝ่ายเชื่อใจและรักเขาได้ เขาก็เริ่มเรียนรู้ที่จะเว้นที่ว่างให้อีกฝ่ายได้ค่อยๆ เชื่อใจเขา และเริ่มมองเขาในแง่มุมอื่นๆ
อาจารย์ทาเมโคได้แทรก Quote หนึ่งไว้ทุกท้ายบทของเรื่อง มีใจความว่า
"Love seems the swiftest, but it is the slowest of all growths."
(รักนั้นดูราวกับเกิดขึ้นได้ปุบปับ แต่แท้จริงแล้วมันเติบโตอย่างเนิบช้ายิ่งนัก)
― Mark Twain
พี่นกคิดว่าประโยคนี้นิยามเรื่องราวนี้ไว้ได้อย่างครบถ้วนสมบูรณ์ตามที่อาจารย์ต้องการถ่ายทอดออกมา ชวนให้เราติดตามว่าท้ายที่สุดแล้วรัมดานกับโวลซีย์จะลงเอยกันอย่างไร ตัวละครอื่นๆ จะเติบโตไปกับตัวละครหลักถึงขั้นไหน ทุกท่านที่อ่านมาถึงตรงนี้แล้วเริ่มสนใจอยากจะร่วมเดินทางไปในเรื่องราวของเจ้าสาวแห่งดินแดนอันไกลโพ้นเรื่องนี้ พี่นกก็ขอเชิญมาร่วมออกเดินทางไปพร้อมๆ กันนะคะ
เซ็ตติ้งภายในเรื่อง
‘วิวาห์ของลาล่า’ จะเป็นเรื่องที่มีฉากย้อนยุคไปในยุคที่มนุษย์ยังไม่มีไฟฟ้าใช้ ยังมีการค้าขายผ่านการยกกองคาราวานผ่านเมืองต่างๆ สัตว์พาหนะหลักที่ใช้ในการเดินทางคือม้า ดังนั้นบ้านเรือน เสื้อผ้า การแต่งกายของตัวละครก็จะออกแนวโบราณๆ และมีเค้าของชนเผ่าพื้นเมืองแถบทิเบต สังเกตได้จากวัฒนธรรมการเลี้ยงจามรีของตัวละครในเรื่อง เห็นได้ชัดว่าอาจารย์ทาเมโคทำการบ้านเรื่องเสื้อผ้าและฉากมาเป็นอย่างดี รายละเอียดต่างๆ เหล่านี้จะถูกถ่ายทอดออกมาในเนื้อเรื่องผ่านลายเส้นที่เนี้ยบมาก ในแต่ละตอนแค่สังเกตดีเทลเสื้อผ้า อาหาร ความเป็นอยู่ของตัวละครก็เพลินตาแล้ว เรียกได้ว่าใครที่เป็นคอเรื่องแนวๆ ย้อนยุค หนำซ้ำยิ่งชอบ BL อยู่ด้วยแล้วก็ไม่ควรพลาดเรื่องนี้ด้วยประการทั้งปวง
โวลซีย์
ชายหนุ่มผิวแทน ตัวสูง หน้าคม หุ่นล่ำ ลูกชายคนเล็กของตระกูลเศรษฐีใหญ่ พูดสื่ออารมณ์ความรู้สึกออกมาไม่ค่อยเก่ง เป็นลูกชายที่ถูกพ่อคาดหวังให้แบกรับหน้าที่สืบทอดตระกูล จึงโตมาแบบค่อนข้างเก็บกด และมีปมในใจอยู่หลายเรื่อง
โดยเฉพาะเรื่องครอบครัว
รัมดาน
หนุ่มรูปงามแห่งหมู่บ้านเล็กๆ ที่ทำธุรกิจขุดเกลือสินเธาว์ขาย มีสีผมและสีตาสีอ่อนผิดกับคนทั่วไปในถิ่นนั้น เอวบางร่างน้อย แต่งหญิงแล้วเนียนตาละมุนนี มีน้องสาวฝาแฝดซึ่งถูกหมั้นไว้กับโวลซีย์ตั้งแต่ยังเด็ก เมื่อมีเหตุที่น้องสาวหนีตามคนรักไปในวันแต่งงาน เขาเลยต้องสวมรอยเป็น ‘ลาล่า’ เพื่อเข้าพิธีวิวาห์เชื่อมสัมพันธ์ของตระกูลโวลซีย์กับหมู่บ้านของตน
ความรักที่ไม่ได้เริ่มต้นอย่างสวยงาม โรยด้วยกลีบกุหลาบเหมือนความรักทั่วไป แต่กลับเต็มไปด้วยเล่ห์เหลี่ยมและแผนการ สุดท้ายแล้วระหว่างโวลซีย์และรัมดานจะลงเอยอย่างไร ติดตามความรักของทั้งคู่ได้ใน "วิวาห์ของลาล่า"