ใครอยากลองรู้สึกขมขื่นกับชีวิตของทหารแนวหน้าซึ่งไร้ทางเลือก
เราขอแนะนำให้คุณหยิบเรื่อง 86―เอทตี้ซิกซ์― ขึ้นมาอ่าน และรู้สึกสิ้นหวังไปพร้อมๆ กัน....
เนื่องจากอีกไม่นาน Animation ของตอนต่อใกล้จะฉายแล้ว (หลังจากที่รอมาพักใหญ่)
พี่นกจะมาชวนคุยและพูดเนื้อเรื่องของ 86 – Eighty Six - กันสักเล็กน้อย
ถ้าจะพูดถึงสงคราม มันจะค่อนข้างมีหลายประเด็นให้ได้พูดถึง
ไม่ว่าจะเรื่องเหยียดเชื้อชาติ นักโทษทางการทหาร
หรือกฎภายในกองทัพที่ในระดับปฏิบัติการไม่สามารถปฏิเสธคำสั่งได้
คงมีหลายคนที่อ่านแล้วคิดว่า
ผู้เขียนใช้การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวใน WWII มาเป็นต้นแบบ
ซึ่งก็เป็นประโยคที่ไม่ผิดเท่าไหร่เลย
หากต้นแบบของการแบ่งแยกเผ่าพันธุ์มาจากแนวคิด Anti-semitism (ลัทธิความเป็นอคติต่อเซมิติค หรือต่อต้านยิว)
ต้นแบบของระบบการจัดการภายในกองทัพ 86 คงมาจาก “Penal Military” ในสมัย WWII (Penal Military เป็นกลุ่มกองกำลังทหารที่ประกอบด้วยนักโทษทหารที่ได้ถูกตัดสินว่ามีความผิดตามกฎหมายทหารหรือกฎของกองทัพ เช่น การหนีทัพ ซึ่งจะถูกเป็นกลุ่มที่นำทัพไปลุยสงครามแนวหน้าที่มีโอกาสเสียชีวิตสูงที่สุด)
ซึ่งมีความคล้ายกับกลุ่มของชิน เหล่าหนุ่มสาวอันถูกตีตรา ‘เอทตี้ซิกซ์’ ต่อสู้ในสงครามอย่างไร้ตัวตนและไร้คนเหลียวแล ด้วยอาวุธยุทโธปกรณ์ด้อยประสิทธิภาพ เหล่า 86 ต้องขี่จักเกอร์นอต เรียกภาษาชาวบ้านว่าเป็นยานพาหนะกากๆ เกราะของพาหนะที่มีความบาง ชูชีพหรือถุงลมนิรภัยที่ป้องกันการบาดเจ็บก็ไม่มีให้ ออกไปสู้กับศัตรูที่เป็นจักรกลล้วน ถ้าโดนยิงหรือโดนตีคือไม่รอดอย่างแน่นอน
หากเสียชีวิตในสนามรบจะเหลือซากศพให้เพื่อนดูเป็นของต่างหน้ามั้ย ก็ทำได้แค่สวดมนตร์เท่านั้นเอง
เนื้อหาใน 86 – Eighty Six – มีการจัดการระบบกองทัพและกฎของทหารบางอย่างที่มีความคล้ายคลึงกับสงครามจริง รวมถึงอาวุธภายในเรื่องก็เป็นชื่อที่มีอยู่จริง ซึ่งหากไม่ใช่สายสงครามเข้าเส้นเลือดอาจจะไม่เข้าใจ ลองไปหาข้อมูลเพิ่มเติมได้หลังจากอ่านเรื่องนี้จบแล้ว
นอกจากดราม่าสงคราม เชื้อชาติ ที่เป็นเนื้อเรื่องหนักๆ แล้ว ก็ยังมีช่วงผ่อนคลายแทรกความโรแมนติคให้ได้อ่านด้วย ดังเช่นคำว่า “ยามศึกเรารบ ยามสงบเรารัก”